กรณีศึกษา เรื่องการประหยัดพลังงานไฟฟ้า
Friday 12 December, 2014 - 15:07
กรณีศึกษาที่ 1 ลดค่าไฟ Demand Charge โดยการเปลี่ยนเวลาอุ่นเครื่อง โรงงานประกอบชิ้นส่วนอิเลคทรอนิคส์ มีการบำรุงรักษาเครื่องจักรโดยต้องมีการเปิดอุ่นเครื่องครั้งละ 1-2 ชั่วโมง เป็นประจำทุกเดือน เดิมทำตามความสะดวกโดยไม่คำนึงถึงค่า Peak Demand
การคำนวณผลการอนุรักษ์พลังงาน หลังจากการเก็บบันทึกข้อมูล และวิเคราะห์ให้ทราบถึงสาเหตุที่ทำให้เกิด Peak Demand ได้จัดให้มีการทำตารางเวลาการบำรุงรักษาใหม่ โดยให้ทำในช่วงที่มีการใช้พลังงานน้อย ทำให้ประหยัดค่า Demand Chargeได้ ประมาณ 60 กิโลวัตต์ ดังนี้
ความต้องการพลังงานที่สามารถประหยัดได้ = 60 กิโลวัตต์ ต่อ เดือน อัตราค่า Demand Charge = 132.93 บาท/กิโลวัตต์ (TOU) คิดเป็นเงินที่สามารถประหยัดได้ = 60 x 132.93 = 7,975.80 บาท ต่อเดือน = 95,709.60 บาท ต่อปี
กรณีศึกษาที่ 2 การลดความสูญเปล่าโดยปรับลดอุณหภมิภายในเตาอบโลหะ เมื่อไม่มีการใช้งาน
ในโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ มีการใช้งานเตาอบโลหะ (Brazing Furnace) ซึ่งส่วนใหญ่จะเปิดใช้งานตลอดเวลา ในการทำงานกะกลางคืน ระหว่างเวลา 20.00 – 05.00 น. พบว่าส่วนใหญ่งานจะทำเสร็จภายในเที่ยงคืน ซึ่งปกติพนักงานก็จะหยุดการทำงาน โดยไม่ได้ปรับลดอุณหภูมิเตาอบเชื่อมชิ้นงาน
แนะนำให้ปรับลดอุณหภูมิเตาจากประมาณ 1100 องศาเซลเซียส เหลือประมาณ 900 องศาเซลเซียส (Stand By Temperature) เมื่อไม่มีการทำงาน
ทำให้ประหยัดพลังงานได้ ประมาณ 200 หน่วยต่อวัน หรือคิดเป็นเงินที่ประหยัดได้ 147,840 บาท ต่อปี
กรณีศึกษาที่ 3 การลดระยะเวลาการอุ่นเครื่องฉีดพลาสติก ช่วงเช้าวันจันทร์ ในโรงงานฉีดพลาสติก ปกติพนักงานจะเปิดเครื่องฉีดพลาสติกและเครื่องอบเม็ดพลาสติกทุกเช้าวันจันทร์ตั้งแต่เวลา 04.00น. โดยมีเครื่องฉีดที่ต้องทำการเปิดประมาณ 22 เครื่อง และทำงานต่อเนื่องไปจนถึงเช้า ของวันอาทิตย์ (ทำงาน 24 ชั่วโมง) จึงปิดเครื่อง
เมื่อนำเครื่องมือมาตรวจวัดการใช้พลังงานไฟ ในลักษณะปัจจุบันที่ทำอยู่ และพล้อตกราฟดังภาพข้างล่าง ทีมงานพบว่าสามารถลดระยะเวลาการอุ่นเครื่องฉีดจากเดิมเปิด 04.00น. เป็น 06.00 น.โดยไม่มีผลต่อการเริ่มทำงานที่เวลา 7.00 น.
ทีมงานได้เปลี่ยนระยะเวลาการอุ่นเครื่องฉีดจากเดิมเปิด 04.00น. เป็น 06.00 น. วัดค่าและแสดงด้วยกราฟ พบว่าการลดเวลาอุ่นเครื่องฉีด ไม่มีผลกระทบต่อการเริ่มทำงานที่เวลา 7.00 น. แต่อย่างใด
การคำนวณผลการอนุรักษ์พลังงาน สามารถลดเวลาการอุ่นเครื่องฉีดพลาสติก เฉลี่ยเดือนละ 4 ครั้ง สามารถลดการใช้พลังงานได้เฉลี่ย 2 ชั่วโมง ต่อครั้ง ประหยัดพลังงานเท่ากับ = ( 140 – 30 ) กิโลวัตต์ x 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ = 220 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อสัปดาห์ x 4 ครั้งต่อเดือน x 12 เดือน = 10,560 หน่วยต่อปี คิดเป็นเงินที่ประหยัดได้เท่ากับ = 10,560 x ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 2.89 บาทต่อหน่วย = 30,518.40 บาทต่อปี
กรณีศึกษาที่ 4 การได้รับเงินคืนจากการไฟฟ้าเพราะมีการเก็บข้อมูลที่ดี
การไฟฟ้ามีการคิดค่าไฟฟ้า มากกว่าความเป็นจริงเนื่องจากมิเตอร์ทำงานผิดปกติ ที่ปรึกษาให้คำแนะนำในการขอคืนเงินจากการไฟฟ้า โดยจัดทำกราฟการใช้พลังงานจากระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อสำหรับเป็นข้อมูลใช้ประกอบการขอคืนเงินจากการไฟฟ้า ซึ่งการไฟฟ้าได้ลดค่าไฟฟ้าคิดเป็นเงิน 165,115.75 บาทในใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้าของเดือนถัดมา
การป้องกันและการลักทรัพย์ในที่พักอาศัย
Friday 11 June, 2010 - 09:54
ข่าวคราวขโมยขึ้นบ้านลักทรัพย์ มีทุกวัน ท่านควรจะดูแลที่พักอาศัยให้อยู่ในสภาพมิดชิด ไม่เป็นสิ่งล่อใจให้คนร้ายกระทำการในบ้านท่านได้ คือ - ตัวบ้าน การป้องกันภัยที่ดีควรเริ่มจากการมีบ้านที่ปลอดภัย หมั่นตรวจตราอุปกรณ์ของบ้านอย่างเคร่งครัด ไม่ปล่อยปละละเลยจนคนร้ายสามารถงัดแงะเข้ามาได้ง่าย จึงโปรดสละเวลาเพียงเล็กน้อยแล้วปฏิบัติดังนี้ - รั้วบ้านควรทำให้สูงและแข็งแรง สำหรับบ้านสองชั้นที่ต่อเนื่องกับครัวควรทำประตูให้แน่นหนา กลอนประตูควร เลือกชนิดที่มั่นคงแข็งแรงหน้าต่างประตูทุกบานควรติดลูกกรงเหล็กติดตั้ง สวิตช์ไฟทุกชนิดไว้หน้าบ้าน ควรเลี้ยงสุนัขไว้ส่งเสียงดังช่วยเตือนภัย หรือติดตั้งสัญญาณไซเรน-ที่ว่างเปล่าที่ติดกับบ้าน ไม่ควรปล่อยให้มีต้นไม้ขึ้นสูง เพราะคนร้ายอาจใช้กำบังตัว
อยู่บ้านอย่างไรให้อุ่นใจ - ก่อนเปิดประตูบ้านรับใคร ควรดูให้แน่ใจเสียก่อนว่ามีคนแปลกหน้าหรือไม่ - เมื่อมีคนโทรศัพท์มาถามว่ามีใครอยู่บ้านหรือไม่ อาจเป็นการหาโอกาสของคนร้าย ให้ตอบว่าอยู่กันหลายคน - ควรอธิบายแก่คนใช้หรือผู้อื่นให้ทราบถึงกลอุบายต่าง ๆ ของคนร้าย เพื่อเป็นการป้องกันอย่าให้หลงเชื่อคนร้าย - ก่อนออกจากบ้านควรปิดประตู หน้าต่าง ใส่กุญแจให้เรียบร้อย - หยุดบอกรับหนังสือพิมพ์เมื่อไม่อยู่ - กลางคืน ควรรูดม่านปิดไม่ให้คนภายนอกมองเห็นด้านใน - ให้ความร่วมมือกับเพื่อนบ้านในการสอดส่องดูแลชุมชน จัดเวรยามหมู่บ้านคอยดูแลเหตุร้าย
|